เจ้าหัวบาก นกเงือกหัวแรดรังเบอร์ 29

เจ้าหัวบาก นกเงือกหัวแรดรังเบอร์ 29

ปรีดา เทียนส่งรัศมี / Preeda Thiensongrusamee

นกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill: Buceros rhinoceros) มีชื่อภาษายาวีว่า บูรง บาลง (บูรง=นก บาลง=แรด) เป็นนกขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับนกกาฮัง และยังมีเสียงร้อง กก กก คล้ายกันอีกด้วย นกเงือกหัวแรด มีโหนกโค้งงอนสวยงาม ถ้ามีขีดดำพาดยาวลงมาและม่านตาสีแดงคือตัวผู้ ตัวเมียไม่มีขีดสีดำ และม่านตาสีขาว นกเงือกหัวแรด จึงเป็นนกเงือก 1 ใน 13 ชนิดของเมืองไทยที่สวยงามมีเอกลักษณ์เห็นแล้วจะต้องติดตาตรึงใจไปอีกนาน และเป็นหนึ่งในนกเงือกที่พบบนเทือกเขาบูโด ซึ่งครั้งหนึ่งนกเงือกหัวแรด เกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้วจากพื้นที่นี้เนื่องจากการล่า แต่สามารถฟื้นฟูประชากรกลับมาได้

สำหรับนกเงือกหัวแรดรังเบอร์ 29 หรือที่พวกเราเรียกว่า เจ้าหัวบาก ตามลักษณะของโหนก ทำรังอยู่บนต้นกาลอ (Shorea sp.) บนยอดเขาปูลา ซึ่งสูงประมาณ 100 กว่าเมตรจากระดับน้ำทะเล ในสวนยางพาราและสวนผลไม้ของชาวบ้าน ใช้เวลาเดินจากถนนผ่านลำธารเล็ก ๆ ปีนตาข่ายกั้นวัว ไปประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้น กว่าสิบปีมาแล้วที่นกเงือกหัวแรดครอบครัวนี้มาใช้โพรงที่ต้นกาลอในการทำรังและผลิตทายาทนักปลูกป่ามากกว่า 10 ตัว

นกเงือกหัวแรด บูโด

หัวบาก..เจ้าของต้นกาลอโดยถูกต้องตามกฎธรรมชาติ

 

แต่เมื่อต้นปี พ.ศ. 2558 มีคนมาล้วงลูกนกของเจ้าหัวบากไปจากโพรงรัง แต่โชคยังดีที่ในปีถัดมาคือ พ.ศ. 2559 ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ใกล้ถึงช่วงฤดูแห่งความรัก ครอบครัวของนกเงือกหัวแรด เจ้าของโพรงรังเบอร์#29 เริ่มเข้ามาสำรวจโพรงรังอีกครั้ง เจ้าหัวบากเอาอกเอาใจแม่นกเงือกด้วยอาหารโปรด เช่น งูเขียวตุ๊กแก เพื่อดึงดูดใจแม่นกเงือก พ่อนกบินเข้าออกที่โพรงรังและโชว์การป้อนอาหารเข้าไปในโพรง เมื่อแม่นกยินดีก็บินมาเกาะใกล้ ๆ และมุดเข้าไปสำรวจด้านใน จากนั้นแม่นกซึ่งเกาะไซร้ขนอยู่ไม่ห่าง ก็ร่อนลงไปยังหุบเขาเบื้องล่าง ในขณะที่พ่อนกโผตามไปทันที..พร้อมกับอาหารที่ดีที่สุดสำหรับห้วงเวลาแห่งความรัก พวกเรามีความหวังอีกครั้งว่าเจ้านกเงือกหัวบาก จะสามารถผลิตลูกนกได้อีก 1 รุ่น

นกเงือกหัวแรด บูโด

เจ้านกเงือกหัวบาก จับงูเขียวตุ๊กแก มาเป็นรางวัลดึงดูดใจ (Nuptial gift) และเกี้ยวพาราสีตัวเมีย

 

นกเงือก หัวแรด

เจ้านกเงือกหัวบากคาบงูเขียวตุ๊กแก บินโผตามแม่นกที่บินร่อนลงไปยังหุบเขาเบื้องล่างทันที

ไข่นก

นอกจากงูเขียวตุ๊กแกแล้ว เจ้าหัวบาก ยังหาอาหารมาให้ตัวเมียหลากหลายชนิด เช่น แมงมุม ตุ๊กแกบิน กระรอกบิน ไข่นก ลูกตะกวด เป็นต้น

กระรอกบินจิ๋วท้องขาว

 

ลูกตะกวด (ภาพถ่ายโดย..Asi Bunyajitradulya)

 

ตุ๊กแกบิน

 

แมงมุม

ต้นเดือนเมษายนของปี พ.ศ. 2560 พ่อนกเงือกรังเบอร์ #29 กลับมาที่บริเวณโพรงรัง เกาะที่ต้นสะตอพร้อมกับผลไม้ที่จัดเรียงมาเป็นอย่างดี..แต่มีสิ่งผิดปกติที่บริเวณปากโพรง..ตะกวดนั่นเองที่กำลังหาอาหารและมุดเข้าออกในโพรงนั้น..พ่อนกเกาะนิ่งบนกิ่งไม้ ชั่งใจ ไม่นานก็เข้าโจมตีโดยใช้จะงอยปากจิกเข้าบริเวณลำตัว ตะกวดหนีมุดเข้าไปซ่อนในโพรงรัง พ่อนกพยายามมุดหาและบินออกมาเกาะอยู่บนต้นสะตอใกล้ๆ..ก่อนที่จะบินหายไปในหุบเขาเบื้องล่าง แม่นกไม่ยอมเข้าโพรงเนื่องจากเห็นว่าไม่ปลอดภัย ทำให้การทำรังต้องล่าช้าหรืออาจไม่ทำรังในปีนี้ก็ได้ ไม่นานนักตะกวดก็มุดออกมา พ่อนกบินกลับมาเกาะอยู่ด้านหลังต้นกาลอที่เป็นโพรงรัง ส่วนแม่นกเกาะห่างออกไป และเกาะอยู่พักใหญ่ จากนั้นมันก็บินจากไปคนละทิศทางและส่งเสียงร้องรับกันไปมา ก้องไปทั้งสวนผลไม้ สงสารเจ้าหัวบาก..มันก็เต็มกำลังแล้วนะนี่! แต่ผู้ที่ตัดสินใจคือคู่รักของมัน ไหนจะคนไหนจะตะกวด ครอบครัวหัวบาก..มันช่างลำบากเสียจริง

เจ้าหัวบาก เก็บผลไม้มาเป็นของรางวัลล่อใจคู่รักให้ร่วมสืบต่อเผ่าพันธุ์กันอีกปี

 

เจ้าหัวบากบินเข้าจู่โจมตะกวด ศัตรูตามธรรมชาติ ที่มารุกรานบริเวณรัง ทำให้นกเงือกตัวเมียกลัวที่จะทำรัง

แม้เจ้าหัวบากพยายามอย่างหนักที่จะผลิตลูกนกเงือกหัวแรดอีกครั้ง แต่ในปี พ.ศ. 2560 แม่นกเงือกยังไม่มีทีท่าว่าจะยอมเข้าโพรงรังเพื่อวางไข่เลย ดังนั้นหลังสิ้นสุดฤดูทำรังประมาณเดือนกันยายน ทีมผู้ช่วยวิจัยชาวบ้านจึงเข้าซ่อมโพรงรังของนกเงือกหัวแรด#29 และพบว่าปากโพรงแคบลง จึงใช้สิ่วเปิดออก และต้องใส่ดินลงในโพรงอีก 130 กิโลกรัม เพื่อให้พื้นโพรงอยู่ในระดับที่แม่นกเงือกและลูกสามารถรับอาหารจากพ่อนกเงือกได้สะดวกขึ้น และถ่ายมูลออกมาด้านนอกได้ หากโพรงรังไม่เหมาะสมนกเงือกก็จะไม่ใช้ทำรังได้ ดังเช่น ฤดูทำรังที่ผ่านมา จึงมีความหวังว่า เจ้านกเงือกหัวบาก จะวนเวียนกลับมาดูโพรงรังนี้ ในต้นปี 2561 เพื่อผลิตลูกนกเงือกหัวแรดรุ่นต่อไป

 

 

นูรีฮัน ดะอูลี ปีนซ่อมแซมโพรงรังของนกเงือกหัวแรดรังเบอร์ 29 ซึ่งมีซารีฮัน ปาเนาะ เป็นผู้ดูแล

 

โชคร้ายเหลือเกิน วันที่ 8 มกราคม 2561 ขณะที่ซารีฮัน ผู้ช่วยนักวิจัยที่ดูแลโพรงรังเบอร์ 29 และผมเดินจนถึงเนินแรกที่เคยสามารถมองเห็นต้นรังของเจ้าหัวบากได้ในระยะไกล แต่วันนี้มันหายไป เมื่อไปถึงบริเวณโคนต้น จึงพบว่า ต้นกาลอ ได้หักโค่นลงเสียแล้ว แต่ยังรู้สึกดีใจที่อย่างน้อย ก็ไม่หักล้มลงขณะที่แม่นกกำลังอยู่ในโพรง หรือขณะที่มีการปีนซ่อมแซมโพรงรังเพื่อช่วยเหลือครอบครัวนกเงือกหัวบากรังเบอร์#29 ให้มีโพรงรังไว้ฟักไข่ออกลูกสืบสายพันธุ์ต่อไปและเพื่อเป็นทางเลือกที่จะให้เราได้พบกับครอบครัวของมันอีกครั้ง การติดตั้งโพรงเทียมบริเวณต้นกาลอเดิมที่หักโค่นลง อาจจะทำให้นกสนใจและอาจจะกลับมาสร้างครอบครัวในสวนยางแห่งนี้อีกครั้ง

ต้นกาลอ โพรงรังของนกเงือกหัวแรดรังเบอร์#29 หรือเจ้าหัวบาก ล้มลงตามธรรมชาติ

เจ้าหัวบากแวะเวียนมาบริเวณโพรงรังเก่าที่โค่นไป ระหว่างที่ทีมงานขนย้ายโพรงรังเทียม เพื่อเตรียมติดตั้งให้มัน

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 ถือเป็นฤกษ์งามยามดีอีกครั้งที่จะไปช่วยเหลือครอบครัวของนกเงือกหัวบาก โดยการติดตั้งโพรงเทียม และขณะที่ทีมงาน ซึ่งประกอบไปด้วยชาวบ้าน และทหารพรานค่ายโรงเรียนน้ำตกปาโจ กำลังลำเลียงโพรงรังเทียมเพื่อนำไปติดตั้งบริเวณรังนกเงือกหัวแรดหมายเลข 29 บริเวณต้นกาลอที่หักโค่นนั้น เสียงนกเงือกหัวแรด เจ้าของโพรงคู่นั้น ก็ส่งเสียงร้องอยู่ไม่ห่าง คงเข้ามาสำรวจโพรงรังสำหรับวางไข่ในฤดูกาลทำรังที่จะมาถึง..แต่โพรงรังของมันหายไปแล้ว คิดว่าโพรงเอื้ออาทรหลังนี้คงพอจะทดแทนได้ อย่างไรก็ตามนกเงือกหัวแรดนั้นยังไม่เคยมีข้อมูลว่าเคยใช้รังเทียมมาก่อน ถ้ามันมาใช้พวกเราจะดีใจมากๆ

ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ทหารพรานน้ำตกปาโจ เตรียมตัวแบกโพรงรังเทียมขึ้นเขาปาลู

โพรงรังเทียมของนกเงือกถูกติดบนต้นไม้ใหญ่ใกล้ต้นกาลอที่เป็นโพรงรังเดิม ซึ่งโค่นหักลง

 

  

Related Post

  • Previous Post
    นกเงือกกับโพรงเทียม
  • Next Post
    การอบรมเชิงปฏิบัติการวิจัยนกเงือกนานาชาติ