นกกก หรือ นกกะวะ หรือ นกกาฮัง ( Great Hornbill, Buceros bicornis)

ลักษณะและอุปนิสัย


นกกก มีขนาด 120-140 เซนติเมตร เป็นนกเงือกที่มีขนาดใหญ่มาก มีสีดำ-ขาว ตัวผู้อาจมีถึงขนาด 1.5 เมตร บริเวณหน้า คาง และส่วนใต้โหนกมีสีดำ คอขาว ปีกสีดำแถบขาว และปลายขนมีสีขาว หางสีขาวมีแถบดำพาดค่อนไปทางปลายหาง จะงอยปากมีสีเหลืองปลายปากมีสีส้ม นกทาสีเหลืองบนโหนกและจะงอยปากรวมทั้งบริเวณหัว ส่วนคอและปีก ด้วยสีของน้ำมันต่อจากโคนหาง โหนกของตัวผู้มีสีดำบริเวณด้านหน้า ม่านตาสีแดง ตัวเมียไม่มีสีดำบริเวณโหนก ม่านตาสีขาว ตัววัยรุ่นมีโหนกขนาดเล็กส่วนหน้าแบน

นกกกหากินตามเรือนยอดไม้ มักชอบอยู่เป็นคู่ บางครั้งนอกฤดูผสมพันธุ์อาจรวมฝูงถึง 150 ตัว นอนอยู่ตามต้นไม้ในหุบเขา แต่บางครั้ง ก็ลงมาหากินบนพื้นดิน เสียงร้องดัง กก กก กก กาฮังๆๆๆ หรือ กะวะ ๆๆ จนมาเป็นที่มาของชื่อ นกกกพบอยู่ในป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง หรือป่าเบญจพรรณ ส่วนใหญ่ชอบอยู่บนป่าที่ราบ ระดับความสูงต่ำ 1000 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ก็อาจพบตามภูเขาสูงถึง 2000 เมตร เช่นทางภาคเหนือของไทย ปัจจุบันนกกสูญพันธุ์ไปแล้วจากทางภาคเหนือเพราะว่าถูกล่าและที่อยู่อาศัยถูกโค่นถางเพื่อทำไร่เลื่อนลอย

อาหาร


นกกก ชอบผลไม้ป่าต่างๆ โดยเฉพาะลูกไทร ยางโอน พิพวน ตาเสือใหญ่ ตาเสือ ฯลฯ นอกจากนี้ยังกิน งู หนู นก แมลง ฯลฯ

great hornbill
great hornbill

การทำรังและเลี้ยงลูก


นกกก ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตัวเมียจะปิดรังในเดือนมกราคม ลูกนกออกจากโพรงราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน แต่ทางแถบเทือกเขาบูโด (นราธิวาส) ตัวเมียปิดโพรงเดือนมีนาคม ลูกนกออกจากโพรงเดือนกรกฏาคม ต้นไม้ที่ใช้เป็นโพรงรัง ส่วนใหญ่ได้แก่ ต้นยาง (Dipterocarpaceae) และหว้า ตัวเมียกกไข่อยู่ในโพรงจนลูกนกฝักออกจากไข่ เมื่อลูกนกอายุราว 1-1.5 เดือน แล้วตัวเมียจะกระเทาะปากโพรงออกมาช่วยตัวผู้เลี้ยงลูก ลูกนกจะปิดปากโพรงเสียใหม่นกกกเลี้ยงลูกเพียงตัวเดียวเท่านั้น พฤติกรรมการเลี้ยงลูกเป็นแบบ พ่อ-แม่ช่วยกันเลี้ยง