การทำรัง

อุปนิสัยในการทำรังของนกเงือกเป็นลักษณะเด่นเฉพาะตัวของนกในวงศ์นี้ ( Bucerotidae ) คือทำรังในโพรงไม้ แต่มันจะไม่สามารถเจาะรังได้เองอย่างนกหัวขวาน แต่จะเสาะหาโพรงที่มีอยู่โดยธรรมชาติหรือที่มีสัตว์อื่นทำให้เกิดขึ้น ที่แปลกคือไม่เพียงแต่เข้าไปอยู่ในโพรง นกเงือกตัวเมียยังปิดปากโพรงด้วยวัสดุต่าง ๆ อันได้แก่ มูลของมันเอง เศษไม้ ดิน เป็นต้น ผสมกันพอกปากโพรงให้เล็กลงจนเหลือเพียงช่องแคบ ๆ เพียงพอที่พ่อนกจะส่งอาหารผ่านด้วยจงอยปาก นกเงือกตัวเมียจะออกไข่ ฟักไข่ และเลี้ยงลูกอยู่ภายในโพรงจนกว่าลูกนกจะโตพอที่จะบินได้จึงจะกระเทาะปากโพรงออกมา ซึ่งกินเวลาประมาณ 3-4 เดือน

โพรงรังของนกเงือกโดยขนาดของต้นไม้ที่มีโพรงใหญ่พอ หากวัดที่ระดับความสูงของหน้าอกคนวัดเส้นผ่าศูนย์กลางตกราว ๆ 1 เมตร ปากโพรงจะต้องไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไปขนาดพอดี ก็ตกราว 20 x 12 ซม.ความสูงของเพดานรังกว่า 1 เมตรขึ้นไปพื้นโพรงรังต้องไม่ลึกต่ำกว่าขอบประตูล่างมากนัก ความกว้างภายในโพรงใหญ่พอก็ประมาณ 50 x 40 ซม.

โดยปกตินกเงือกจะใช้โพรงปีแล้วปีเล่าหากโพรงนั้นยังเหมาะสมอยู่ ตัวผู้จะเชิญชวนตัวเมียให้เข้าไปดูรังด้วยการโผบินไปเกาะปากโพรง แล้วยื่นหัวเข้าไปสำรวจภายใน บินเข้าออกหลายครั้ง ขณะเดียวกันก็เกี้ยวพาราสีกันด้วย ตัวผู้จะกระแซะเข้าใกล้ตัวเมียและพยายามป้อนอาหารซึ่งได้แก่ ผลไม้ ให้ตัวเมียบางคู่อาจใช้เวลานานหลายวันกว่าตัวเมียจะสนใจและยอมบิน เข้ามาดูรัง เมื่อคิดว่าได้โพรงที่เหมาะเป็นที่ถูกใจแล้ว ตัวเมียจะเริ่มงานทันที ถ้าปากโพรงแคบไป เนื่องจากการเจริญเติบโตของต้นไม้นกจะเจาะปากโพรงให้กว้างอีกเล็กน้อย กระเทาะวัสดุปิดรังเก่า ๆออก แล้วจะมุดเข้าไปในโพรง จากนั้นตัวเมียจะทำความสะอาดภายในโพรงโดยการคาบเศษเมล็ดผลไม้เก่า ๆ เศษขนของปีก่อนโยนทิ้ง แล้วเริ่มปิดปากโพรงเสียใหม่ วัสดุที่หาได้จะถูกผสมกับมูลของตัวเมียรวมทั้งอาหารที่สำรอกออกมาแล้วพอกลงบนปากโพรงที่เปรียบเหมือนประตู โดยใช้จงอยปากด้านข้างตีให้ติดกัน เมื่อวัสดุนี้แห้งจะแข็งและเหนียวมาก ตัวผู้อาจช่วยหาวัสดุเช่นดิน หรือ เปลือกไม้มาให้ แล้วแต่ชนิดของนกเงือกว่าชอบประตูที่ทำด้วยวัสดุอะไร เช่น นกกกใช้เปลือกไม้ เศษไม้ผุ ๆ เศษอาหารแต่ไม่ใช้ดินเลย ตรงข้ามนกแก๊กจะใช้ดินเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้ตัวผู้จะคอยเฝ้าเป็นเพื่อนอยู่ข้างนอกเกือบตลอดเวลา และคอยป้อนอาหารหลังจากตัวเมียเสร็จงานปิดโพรงในแต่ละวัน บางคู่จะส่งเสียงเบา ๆ ราวกับปลอบประโลมให้ตัวเมียอุ่นใจ และเมื่อหากตัวผู้แวบหายไปชั่วคู่ชั่วยาม ตัวเมียจะละงานปิดโพรงตามไปทันที ตัวผู้จะต้องพากลับมาที่โพรงอีก จะใช้เวลาปิดปากโพรงอยู่ราว 3-7 วัน เมื่อตัวเมียขังตัวเองอยู่ภายในโพรงเรียบร้อยแล้ว ตัวผู้จะทำหน้าที่ดูแลอย่างเคร่งครัดน่ายกย่องสรรเสริญเป็นอย่างยิ่งนับเป็นเยี่ยงอย่างที่ดี

ในระยะแรกๆ ในการทำรัง คือช่วงตัวเมียฟักไข่ การป้อนอาหารจะไม่บ่อยนัก ราววันละ 2-3 ครั้ง อาหารส่วนมากจะเป็นพวกผลไม้ ระยะนี้ตัวผู้พอมีเวลาให้ตัวเองบ้างก็จะแต่งตัวให้หล่ออยู่เสมอ ส่วนตัวเมียก็จะถือโอกาสนี้ผลัดขนเสียใหม่

ฤดูทำรัง

ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่คู่ผัวเมียจะเริ่มกลับไปที่รังเดิม หรือเสาะหารังใหม่เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนราวเดือนธันวาคม-เดือนมกราคม ในช่วงเวลานี้มักจะได้เห็นนกเงือกโดยเฉพาะตัวผู้กระตือรือร้นที่จะสำรวจดูช่องรูโพรงต่างๆ หรึอแม้แต่ช่องที่เราทำขึ้นที่ซุ้มบังไพรสำหรับการเฝ้าสังเกตของเรา