ความเป็นมา

ในโลกมี “นกเงือก” หรือ “Hornbills” อยู่หลากหลายพันธุ์ถึง 52 ชนิด บวกกับ Ground Hornbills อีก 2 ชนิดเป็น 54 ชนิด จำง่ายๆ ก็คือ มีจำนวนเท่ากับไพ่ 1 สำรับ(52ใบ) รวมโจ๊กเกอร์อีก 2 ใบ เท่านี้ก็ไม่ยากแล้ว “นกเงือก” ส่วนใหญ่พบอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าและป่าดิบเขตร้อนของทวีปแอฟริกาและเอเชีย เขตร้อนของทวีปเอเชียมีนกเงือกหลากหลายถึง 31 ชนิด ในประเทศไทยเรามีนกเงือกให้จดจำกันถึง 13 ชนิด อย่าได้สับสนกับ “นกทูแคน” (Toucan) ของอเมริกาใต้

“นกเงือก” มีรูปร่างหน้าตาโบราณที่ถือกำเนิดมาไม่น้อยกว่า 50 ล้านปี ไม่มีสีสันสะดุดตา ขนมักมีสีดำ-ขาว บางชนิดมีขนสีน้ำตาล หรือ เทา ส่วนที่มีสีฉูดฉาดอยู่บ้างก็เป็นหนังเปลือย เช่น หนังบริเวณคอ หนัง ขอบตา แต่สีเหลืองสดจัดจ้านที่ปรากฎบนส่วนขนสีขาว หรือบริเวณปากและโหนกของนกกก นกเงือกหัวแรด และนกชนหินนั้น มาจากสีของน้ำมันที่นกทาและแต่งแต้มขึ้น หรืออีกนัยหนึ่ง พวกมันรู้จักใช้ “เครื่องสำอาง” น้ำมันนี้ผลิตโดยต่อมน้ำมัน ซึ่งอยู่บนโคนหาง อันที่จริงนกใช้น้ำมันทาขนเพื่อรักษาสภาพของขน ทำนองเดียวกับมนุษย์ใช้น้ำมันใส่ผมเพื่อรักษาสภาพเส้นผมนั้นล่ะ

บทบาทเด่นของนกเงือกในระบบนิเวศป่าคือ ช่วยกระจายพันธุ์ไม้กว่า 200 ชนิดที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากพฤติกรรมการเลือกกินผลไม้ที่สุก และนำพาเมล็ดไปทิ้งในพื้นที่ต่างๆ จึงเป็นตัวช่วยปลูกป่าและปลูกแหล่งอาหาร ทั้งของนกเงือกและสัตว์ป่าอื่นๆและยังรักษาความหลากหลายของพืชและสัตว์ จึงจัดเป็นชนิดพันธุ์ที่เป็นร่มเงาให้กับสัตว์ชนิดอื่น (Umbrella species) ทำให้สังคมพืชเกิดความสมดุล และช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลงและหนูเป็นต้น จากความสัมพันธ์ของนกเงือกมีความอ่อนไหวต่อพื้นที่ป่าที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเหมาะที่จะจัดนกเงือกเป็นชนิดพันธุ์ที่เป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของป่า(Indicator species) แต่ละแบบได้อีกด้วย