
ชีวิตที่ไม่ง่ายของนกเงือก
โดย ณรงค์ จิระวัฒน์กวี (Narong Jirawatkavi)
ช่วงเดือนเมษายน ปี 2560 ขณะเดินสำรวจโพรงนกเงือกในป่าเขาใหญ่ ผมเห็นนกกกตัวเมียรังนี้กำลังมุดออกจากโพรง(เพื่อมาช่วยนกตัวผู้เลี้ยงลูก) ผมยืนดูสักครู่แต่นกก็ยังออกมาไม่ได้ ก็เลยรู้ว่าปากโพรงเริ่มแคบเกินไปแล้วเพราะนกมุดออกได้ลำบาก จึงได้เดินหลบออกมา
แต่ในที่สุดนกกกตัวเมียรังนี้ก็มุดออกมาได้และสามารถเลี้ยงลูกจนประสบความสำเร็จ ครั้นพอถึงช่วงปลายปีแบบนี้(ธค.) เราจึงเริ่มปีนสำรวจโพรงนกเงือกรังนี้อีกครั้งและวัดขนาดปากโพรงได้กว้าง 10 ซม.คิดว่าปากโพรงแคบเกินไป จึงได้ขยายปากโพรงให้กว้างเป็น 14 ซม.
นกกกตัวเมียกำลังมุดออกจากโพรง แต่เป็นเพราะปากโพรงเริ่มแคบ ทำให้มุดออกได้อย่างลำบาก
นอกจากนี้พื้นในโพรงเริ่มทรุดนิดหน่อย เราจึงถมดินเข้าไปอีกเพื่อให้พื้นโพรงอยู่ในระดับที่เหมาะสม คิดว่าในปีถัดไป(พ.ศ.2561) ถ้านกกกมาใช้โพรงนี้ทำรังอีกครั้ง คงจะมุดเข้า-ออกได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
วิชัย กลิ่นไกล หรือหมีน้อย เป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามของโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปีนไปขยายปากโพรงให้กว้างมากขึ้น หลังจากสังเกตว่าปากโพรงรังเริ่มจะแคบเกินไป เพื่อให้นกเงือกสามารถมุดเข้า-ออกได้ง่ายมากขึ้น กลับมาใช้ทำรังได้อีกครั้ง
นกเงือกกรามช้างเพศเมียตัวนี้ มุดเข้าไปสำรวจโพรง แต่มุดออกมาไม่ได้สุดท้ายต้องตายคาปากโพรง ตอนที่นักวิจัยมาเจอก็พบว่านกตายไปหลายวันแล้ว (ภาพโดย คุณพิทยา ช่วยเหลือ)