นำเสนองานวิจัยในเซอมารัง…อินโดนีเซีย

นำเสนองานวิจัยในเซอมารัง…อินโดนีเซีย

การเดินทางทุกครั้งของผมมักจะมีประสบการณ์และเรื่องราวดีๆที่น่าจดจำทุกครั้ง การเดินทางครั้งนี้เช่นกันที่ต้องออกจากแผ่นดินแม่มุ่งหน้าลงสู่ใต้สุดของภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ผมเริ่มต้นเดินทางจากทาอากาศยานสุวรรณภูมิในช่วงเช้าของวันที่ 6 กุมภาพันธ์ หลังจากพ้นแผ่นดินไทย มีเพียงพื้นทะเลสีครามเท่านั้นที่มองเห็นจากบนเครื่องบิน เพียง 3 ชั่วโมงเศษก็ถึงท่าอากาศยาน soekarno-hatto ในเมืองจากาตาร์ แต่เป้าหมายของการเดินทางครั้งไม่ใช่เมืองจากาตาร์ แต่เป็นเมืองเล็กๆบนเกาะชวา ดังนั้นจึงต้องต่อเครื่องบินอีกหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ เพื่อไปยัง เมืองเซอมารัง

“ท่าอากาศยาน soekarno-hatto”

จากเพดานบินระดับพันกว่าเมตร เครื่องบินค่อยลดระดับลงเมื่อเข้าใกล้ขอบประเทศ ด้านล่างขณะนี้คือท่าเรือที่มีตู้คอนเทรนเนอร์กองเรียงรายอยู่มากมาย แล้วค่อยๆขยับเข้ามาเป็นผืนนาที่เขียวชอุ่มก่อนที่จะตัดตรงเข้าสู่ตัวเมืองที่ตั้งอยู่ตามแนวที่ลาดเขาที่สลับซันซ้อน  ซึ่งเอกลักษณ์ที่สำคัญของเมืองนี้คือ หลังคาอาคารบ้านเรือนล้วนแต่เป็นสีแดง

สายฝนโปรยปรายลงมาต้อนรับขณะตั้งแต่เครื่องยังไม่แตะสนามบิน สภาพภูมิอากาศของเมืองนี้ไม่ต่างจากภาคใต้ของเรามากนักเนื่องจากอยู่ในเขตใกล้เส้นศูนย์สูตร

แม้จะเป็นสนามบินเล็กๆแต่คับคั่งไปด้วยผู้คน ผมพยายามกวาดสายตาสอดส่องหาคณะของ อาจารย์ Andress  ผู้ที่จะมารับคณะของผม หลังจากที่พบ อาจารย์ Andress  ผู้ใหญ่ใจดีท่านนี้ชวนพวกเราคุยกันตลอดทาง แม้ผมจะเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างตอบได้บ้างไม่ได้บ้างแต่ท่านก็พยายามจะเข้าใจในสิ่งที่ผมพยายามสื่อสาร

รถเคลื่อนตัวผ่านตัวเมืองซึ่งถนนค่อนข้างคับแคบและคับคั่งไปด้วยรถ หากคนไทยได้ลองขับรถในเมืองนี่คงรู้สึกหงุดหงิดมิใช่น้อยเพราะทั้งรถติดและเสียงแตรจากรถที่สวนไปสวนมา จากถนนที่แคบก็ค่อยๆแคบลงอีกและยังชันขึ้น

ที่พักของเราอยู่ในมหาวิทยาลัย และยังใช้ที่นี่สถานที่จัดงาน ปีนี้เมืองเซอมารังได้รับมอบหมานให้เป็นเจ้าภาพการจัดงาน อาจารย์ Andress จึงเชิญอาจารย์วิจักขณ์ซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศไทยมาบรรยาย ผมและเพื่อนจึงมีโอกาสนำผลงานที่นี่

เช้าวันถัดมาผมถูกปลุกด้วยเสียงละมาดตั้งแต่ตี 4 พร้อมกับสายฝนที่ตกลงมาพรำๆ  หลังจากนั้นอีกไม่กี่ชั่วโมง มีชายหนุ่มรูปร่างสันทัด ผิวสีแทนและผมหยักศกอันเป็นเอกลักษณ์ เขาชื่อ เฮรู (Heru) กับหนุ่มอีกคนรุ่นราวคราวเดียวกับผม ชื่อ ดาวิป (Davip) ซึ่งทั้งสองคนนี้จะมาเป็นคนคอยดูแลอาจารย์และพวกผมสองคน เข้ามาทักทายถึงที่พักและพาไปรับประทานอาหาร งานวันนี้คือการบรรยายของอาจารย์เกี่ยวกับงานวิจัยนกเงือกของประเทศไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากคณะอาจารและนักศึกษาเป็นจำนวนมาก ในช่วงบ่ายผมมีโอกาสได้ไปเดินชมภายในมหาวิทยาลัย และคณะวิทยาศาสตร์ของที่นี่ ซึ่งมีหลากหลายสาขา แบ่งเป็นห้องปฏิบัติการต่างๆ เช่น ชีววิทยาเคมี พันธุศาสตร์ สัตวศาสตร์ พฤษศาสตร์ ส่วนห้องที่ผมสนใจมากที่สุดคือ นิเวศวิทยา ที่ดูเหมือนจะคุยกันรู้เรื่องที่สุด ผมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน และความรู้ด้านสัตว์ป่ากับเพื่อนๆชาวอินโดนีเซีย ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขาจะมีพื้นที่วิจัยอยู่ที่ Ungaran Mountain ซึ่งเรื่องราวของผมกับพวกเขาถูกแลกเปลี่ยนกันอย่างสนุกสนาน

สองวันต่อจากนี้จะเป็นวันที่จัดงาน ซึ่งในงานนั้นมีการจัดบูทของหน่วยงานต่างๆ การนำเสนอโปสเตอร์ และการบรรยาย จากองค์กรต่างๆที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์นกในประเทศอินโดนีเซีย งานนี้มีผู้คนสนใจค่อนข้างมากบรรยากาศภายในงานค่อนข้างเป็นกันเอง โปสเตอร์ของเราก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากเนื้อหาโปสเตอร์แล้วเรายังนำรูปภาพการทำงานในภาคสนาม และสัตว์ป่าที่พบในพื้นที่ทำงาน มาให้ชมอีกด้วย  อีกทั้งวีดีโอจาก Cameratrap ของแน็กก็ดึงดูดความสนใจให้คนมาดูโปสเตอร์ได้มากเช่นกัน จึงทำให้ทั้งสองวันนี้เราได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งด้านวิชาการ วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของคนประเทศนี้ ซึ่งสิ่งที่ได้มากกว่าองค์ความรู้คือความกล้าที่จะนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษของตัวผมเอง

“เซอลามัต ปากี” ผมทักทาย อาจารย์Andreas   ดาวิป  เฮรู พร้อมกับยื่นมือออกไปจับเช่นเดียวกับวัฒนธรรมทางตะวันตก เช้านี้เฮรูแนะนำเพื่อนใหม่ให้รู้จักอีกหนึ่งคน คือ ตาต้า ซึ่งมีอายุมากกว่าผมดังนั้นจึงต้องเรียก มัส(พี่ชาย)ตาต้า  เป้าหมายของการเดินทางอยู่ที่ทะเลสาบ Rawapenning วันนี้ที่นี่จะมีการสำรวจนกน้ำประจำปี่ซึ่งได้รับความร่วมมือกลุ่มจากสมาชิกที่มาเข้าร่วมประชุมเมื่อสองวันก่อน ซึ่งวิธีการสำรวจจะนั่งเรือสำรวจชนิดนกรอบๆทะเลสาบแห่งนี้  แม้จะเป็นช่วงสายแต่แดดที่นี่ก็แรงพอๆกับประเทศไทย ชนิดนกก็คล้ายๆกับบ้านเรา เช่น นกพริก ยางกรอกพันธุ์ชวาซึ่งที่นี่เยอะมาก เหยี่ยวออสเปรที่ดูจะทำให้พวกเราฮือฮาขึ้นมาบ้าง

ทะเลสาบ Rawapenning

มัสตาต้าผู้ทำหน้าที่เป็นไกด์บอกเราว่าเขาเคยทำวิจัยสำรวจนกที่นี่ พบนกว่าร้อยชนิด  วันนี้แดดอาจจะร้อนไปสักนิดจึงทำให้เห็นนกไม่มากนัก นอกจากนกที่น่าสนใจแล้ววิถีชีวิตของชาวประมงในทะเลสาบแห่งนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน พวกเขาหาปลาโดยวิธีสร้างที่พักหลังเล็กๆอยู่กลางน้ำและจับปลาโดยชักรอกดึงตาข่ายขึ้นคล้ายกับการ”ยกยอ”ของบ้านเรา ที่พักเล็กๆแบบนี้นี้มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งทะเลสาบ  หลังจากทุกทีมสำรวจเสร็จกิจกรรมต่อไปคือการสรุปผลการสำรวจชนิดนก ซึ่งปีนี้จำนวนชนิดนกลดลงจากปีก่อนๆ ซึ่งมีข้อวิจารณ์กันว่า อาจจะมีผลจากการทำประมงที่มากขึ้นกว่าปีก่อนๆ

วันนี้เป็นวันสุดท้ายก่อนที่เราจะกลับประเทศไทย การเดินทางในวันนี้เป็นการเข้าชมโบราณสถานที่ที่มีความยิ่งใหญ่อลังการ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นมรดกโลกจากองค์กรUNESCO อีกแห่งหนึ่ง

 

มหาสถูปBorobudurหรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ”บุโรพุทโธ” ถูกสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 1293 – 1393 โดยพุทธสานิกชนนิกายมหายาน  ทั้งองค์สถูปสร้างจากหินภูเขาไฟ ภายในประกอบด้วยพระพุทธรูปและเจดีย์นับร้อย และภาพแกะสลักอีกนับพันภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติ และ

แนวทางสู่การนิพพาน แต่สำหรับเด็กที่ศึกษาด้านสัตว์ป่าอย่างผมมีสิ่งที่น่าสนใจกว่านนั้น เพราะในภาพแกะสลักมีการแกะสัตว์ป่าหลากลายชนิดซึ่งพอที่จะเป็นหลักฐานให้ทราบว่า

ภาพบางส่วนแสดงให้เห็นว่ามีสัตว์ป่าหลายชนิดอยู่ที่นี่

ในอดีตพื้นที่แห่งนี้มีสัตว์ชนิดใดอาศัยอยู่บ้างและมีความสำคัญกับมนุษย์ในยุคนั้นเช่นไร ซึ่งภาพส่วนใหญ่เป็นสัตว์ประเภทนก เช่น นกแก้ว นกเงือก นกนางแอ่น และนกยูง นอกจากนั้นยังพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่น ลิง และเสือ เป็นต้น

ฟ้าครึ้มๆพร้อมกับลมที่พัดไอเย็นของละอองฝนกำลังคืบคลานเข้ามาแทนที่อากาศร้อนที่สร้างความทรมานเมื่อสักครู่ ไม่ทันที่จะได้หาที่หลบฝนก็เทลงมาอยางไม่ลืมหูลืมตา การเยี่ยมชมและศึกษารายละเอียดของผมในวันนี้คงจบพร้อมสายฝนเสียแล้วการเดินทางคงต้องสิ้นสุดที่นี่ก่อนที่จะกลับประเทศไทย

Related Post

  • Previous Post
    การอบรมเชิงปฏิบัติการวิจัยนกเงือกนานาชาติ
  • Next Post
    นกเงือกที่สวยที่สุดในโลก